Expedia ชี้นักท่องเที่ยว “เอาจริงเรื่องสิ่งแวดล้อม”

  • ข่าวประชาสัมพันธ์ /
  • 508 /
  • 9 มิถุนายน 2565

การผ่อนปรนความเข้มงวดของมาตรการต่าง ๆ ด้านการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ส่งผลให้การวางแผนการท่องเที่ยวกลับมาอยู่ในกระแสความสนใจของผู้คนอีกครั้ง หลายประเทศอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางได้มากขึ้น โจทย์ที่เปลี่ยนไปคือพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังจากวิกฤตโควิด-19 พวกเขากำลังมองหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ต่างไปจากเดิม

หลังโรคระบาดคลี่คลาย นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มตอบรับการท่องเที่ยวที่เติมเต็มความหมายให้กับชีวิตและมีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ซึ่งคาดว่ามาจากภาวะที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการตกตะกอนความคิดว่าชีวิตมนุษย์ไม่แน่นอน เมื่อมีโอกาสออกเดินทางอีกครั้ง ความยั่งยืนจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจจองที่พัก ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว และออกแบบแผนการเดินทางที่จะส่งผลกระทบทางลบแก่สิ่งแวดล้อมในจุดหมายปลายทางให้น้อยที่สุด

Expedia Group ร่วมกับ Wakefield Research ได้เปิดเผยรายงาน Sustainable Travel Study จากการสำรวจนักท่องเที่ยวทั่วโลกจำนวน 11,000 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย จีน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 เพื่อทำความเข้าใจทัศนคติ พฤติกรรม และค่านิยมเกี่ยวกับความยั่งยืนในการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งพอจะสรุปเป็นสาระสำคัญสำหรับคาดการณ์พฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปี 2022 ได้ดังนี้

ภูมิทัศน์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

การสำรวจมุมมองนักท่องเที่ยวชี้ให้เห็นว่า “เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” โดยบริบทของความยั่งยืนในที่นี้ ไม่ได้หมายความถึงเพียงการไม่สร้างผลกระทบทางลบให้แก่ธรรมชาติ แต่ต้องยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของชุนชมดั้งเดิมไม่ให้เสื่อมสลายไปด้วย ความยั่งยืนครอบคลุมไปทุกองค์ประกอบของการท่องเที่ยว ตั้งแต่ขั้นตอนการค้นหาแหล่งท่องเที่ยว การวางแผนท่องเที่ยว การจองที่พัก การคมนาคม รวมถึงจุดหมายปลายทาง โดยให้น้ำหนักกับแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้

  • 69% ของนักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • 66% ของนักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน
  • 65% ของนักท่องเที่ยวสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชน
  • 52% ของนักท่องเที่ยวอยากไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก

นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 90 ของนักเดินทางใช้เกณฑ์เรื่องความยั่งยืนเป็นตัวเลือกหลักเมื่อตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยว กล่าวคือ “ทำอย่างไรให้การไปท่องเที่ยวทริปนั้นยั่งยืนมากที่สุด ?”

ตัวเลือกที่ยั่งยืนจะถูกเลือกมากกว่า

การท่องเที่ยวแต่ละครั้งมาพร้อมกับคำถามมากมาย “จะเดินทางอย่างไร ?” “จะไปเที่ยวที่ไหน ?” “จะทำกิจกรรมอะไรบ้าง ?” หรือแม้แต่ “จะกินอะไรดี ?” ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดีผลการศึกษาอธิบายว่าตัวเลือกที่เชื่อมโยงกับประเด็นความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทะยานขึ้นมาติดอันดับต้น ๆ ที่มักได้รับการเลือกจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ดังนี้

  • 56% ของนักท่องเที่ยวมองหาตัวเลือกที่ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม
  • 51% ของนักท่องเที่ยวเลือกบริการที่ชุมชนเป็นเจ้าของหรือมีการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • 48% ของนักท่องเที่ยวอยากสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนมากเป็นพิเศษ
  • 37% ของนักท่องเที่ยวให้น้ำหนักกับบริการที่สามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอน

จากสถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (ปี 2020-2022) จะพบว่า 3 ใน 5 ของนักท่องเที่ยวเลือกวิธีเดินทางหรือที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าแบบทั่วไป และกว่า 7 ใน 10 ของนักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงจุดหมายปลายทางหรือเลิกใช้บริการขนส่งทันที หากมีสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นทางเลือกที่ไม่ยั่งยืน หลังสิ้นสุดโรคระบาด หลายคนมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กว่าร้อยละ 65 จะสนับสนุนที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทริปถัด ๆ ไป


การศึกษาได้นำแนวโน้มของ “สิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากจะทำ ?” ในปี 2020-2022 มาเปรียบเทียบกัน สิ่งที่น่าสนใจคือนักท่องเที่ยวจะตัดสินใจทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีคุณค่าและความหมายต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • ร้อยละ 50 ต้องการบริโภคสินค้าจากชุมชนโดยตรง เลี่ยงการซื้อจากพ่อค้าคนกลาง 
  • ร้อยละ 49 อยากเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
  • ร้อยละ 47 จะเลือกรูปแบบการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ร้อยละ 45 อยากซื้อสินค้าที่สะท้อนอัตลักษณ์ ของวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือชนพื้นเมือง
  • ร้อยละ 44 อยากไปแหล่งท่องเที่ยวขนาดเล็กที่คนรู้จักน้อย
  • ร้อยละ 45 เลือกพักผ่อนภายในที่พักมากกว่าออกไปทำกิจกรรมที่เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ร้อยละ 39 ยินดีที่จะจ่ายเงินแพงกว่าเพื่อทางเลือกด้านความยั่งยืน 
  • ร้อยละ 40 สนับสนุนบริการท่องเที่ยวจากผู้ประกอบการที่มีแนวทางความยั่งยืนชัดเจน
  • ร้อยละ 38 เลือกจุดหมายปลายทางที่มีกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่น

ยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อความยั่งยืน

นักท่องเที่ยวกว่า 74% เห็นพ้องต้องกันว่าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมีต้นทุนสูง อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นกว่าครึ่งหนึ่งก็เต็มใจที่จะจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อยเฉลี่ย 38% หากจะช่วยให้ทริปนั้นมีส่วนช่วยลดมลพิษ เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม

สามารถจำแนกประเภทของค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นได้ 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) ค่าอาหาร 55% 2) ค่ากิจกรรม 53% 3) ค่าการเดินทาง 51% 4) ค่าที่พัก 51% 5) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลหรือของฝาก 47% และ 6) บริษัททัวร์หรือผู้ให้บริการท่องเที่ยว อยู่ที่ 44%

สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น


เทรนด์ของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ได้มีความหมายเพียงการดูแลปกป้องธรรมชาติ แต่ครอบคลุมถึงการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น นักท่องเที่ยว มีแนวโน้มจะสนับสนุนที่พัก ลักษณะการเดินทาง และเลือกจุดหมายปลายทางที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชน แม้ว่าอาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น นักท่องเที่ยวยังเต็มใจที่จะเสียสละความสะดวกสบายส่วนตัวในบางมิติเพื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักเดินทางภายใต้กรอบแนวคิดความยั่งยืน เช่น

  • 50% ยินดีสละความสะดวกสบายส่วนตัว เช่น เลือกเดินแทนการใช้รถในระยะทางใกล้ ๆ
  • 49% พร้อมเผชิญความลำบากมากขึ้นเพื่อความยั่งยืน เช่น เลือกใช้การขนส่งสาธารณะแทนรถแท็กซี่
  • 47% ยินยอมเสียเวลาตนเอง เช่น ถึงจุดหมายช้ากว่ากำหนด หากตอบโจทย์ยั่งยืนมากกว่า
  • 47% ตัดสินใจเลือกที่พักที่อาจไม่สะดวกสบาย เช่น ระยะทางไกล ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก
  • 43% เต็มใจที่จะใช้ระยะเวลาเดินทางไปยังจุดหมายนานขึ้น
  • 43% เลือกที่พักที่มีแนวทางบริการบนพื้นฐานความยั่งยืนเพื่อความสบายใจ

ความท้าทายและโอกาสของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

เมื่อความยั่งยืนเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง ส่งผลให้ลักษณะของจุดปลายหมายทางที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนแปลงไป โดยจากการศึกษาพบว่านักท่องเที่ยว 43% ยังคงเลือกเดินทางไปเมืองขนาดใหญ่ ในขณะที่ 34% เริ่มอยากไปท่องเที่ยวเมืองที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก และ 23% เลือกพักผ่อนภายในรีสอร์ท ซึ่งสถานที่ที่มีมาตรฐานด้านความยั่งยืนจะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว


จากคำถามต่อกลุ่มตัวอย่างว่า “การเดินทางแบบใดที่คุณจะเลือกใช้บริการ เมื่อมีการแสดงออกด้านความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม” ผลปรากฏกว่านักท่องเที่ยวกว่า 30% จะเลือกเดินทางโดยเครื่องบิน 28% เดินทางด้วยรถไฟ 26% จะใช้บริการรถยนต์/รถเช่า ในขณะที่อีก 16% ใช้บริการรถสาธารณะ แม้ว่าจะมีตัวเลขสะท้อนว่าการเดินทางโดยเครื่องบินปล่อยมลพิษค่อนข้างสูง แต่หากมีแนวทางพัฒนาวิธีการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น นักท่องเที่ยวก็ยังยินดีที่จะใช้บริการ

การพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ สำหรับการท่องเที่ยว จะถูกนำเรื่อง “ความยั่งยืน” มาผูกโยงไว้เกือบทุกมิติ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่สนใจทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ผลการศึกษาพบว่าร้อยละ 66 จะตัดสินใจใช้ทางเลือกที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ร้อยละ 64 จะตัดสินใจใช้ทางเลือกที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น และร้อยละ 62 จะเทใจให้ทางเลือกที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน

การโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่มีอิทธิพลเพียงพอต่อการโน้มน้าวใจของนักท่องเที่ยวได้ กว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างกล่าวให้เหตุผลว่าก่อนจะตัดสินใจใช้บริการใด ๆ จะพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุม จำเป็นต้องมีหลักฐาน ข้อมูล หรือมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือและยืนยันได้ว่าสถานประกอบการดำเนินกิจการอย่างยั่งยืนจริง เช่น ข้อมูลรีวิวจากนักท่องเที่ยวเดิม ข้อมูลจากแพลตฟอร์มจองตั๋ว ข้อมูลของสถาบันวิจัย และข้อมูลทั่วไปของโรงแรมที่พัก เอเจนซี่ บริการขนส่ง เป็นต้น

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ให้คุณค่ากับความยั่งยืน จะเลือกข้อมูลจากหลายแหล่งมาประกอบการตัดสินใจ โดยจากการสำรวจพบว่าข้อมูลที่พวกเขาสนใจมากที่สุดคือเศรษฐกิจชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชน ธุรกิจพื้นบ้าน รองลงมาคือเรื่องอาหารการกิน วัฒนธรรมท้องถิ่น และองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามลำดับ เช่น การเดินทาง ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น นอกจากนั้นยังค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเว็บไซต์มากที่สุดรองลงไปเป็นรายการท่องเที่ยว รีวิว บทความ ข่าว พอดแคสต์ รวมถึงโพสต์ของบุคคลทั่วไป

ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวด้วยความจริงใจ

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวเชื่อว่าจะเป็นตัวแปรที่นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือ ความจริงใจ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านการท่องเที่ยว นโยบายและการดำเนินงานควรจะต้องคำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของท้องถิ่นเป็นหลัก ความมั่นใจของนักท่องเที่ยวต่อการตัดสินใจเลือกเดินทางภายใต้เงื่อนไขการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นผ่าน 3 ตัวแปร ได้แก่

1. ความชัดเจน (Clarity)

เนื่องจากเทรนด์ความยั่งยืนกำลังเติบโต เทคโนโลยีทำให้เกิดข้อมูลปริมาณมหาศาล ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความสับสน การนำเสนอการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงต้อง “สั้น กระชับ และเข้าใจง่าย” มีการอธิบายผ่านรูปภาพ วิดีโอ จะเข้าถึงใจนักท่องเที่ยวได้ดีกว่าตัวอักษร และต้องแสดงผลกระทบที่ชัดเจน

2. ความถูกต้อง (Authenticity)

นักท่องเที่ยวต้องการทราบและเห็นเชิงประจักษ์ว่าองค์กร บริษัท ผู้ประกอบการ หรือแบรนด์มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงการเกาะกระแส จึงต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อพิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนอย่างแท้จริง

3. คุณค่า (Value)

จะเห็นว่านักท่องเที่ยวยินดีที่จะจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับตัวเลือกการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจากนักท่องเที่ยวคาดหวังถึงความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม คุณค่าและผลกระทบเชิงบวกที่เป็นไปได้จริง จึงจะสามารถชนะใจบรรดาผู้บริโภคได้

รายงาน Sustainable Travel Study บอกเราว่านักท่องเที่ยวกำลัง “เอาจริง” กับการสนับสนุนความยั่งยืนผ่านการท่องเที่ยว อาจมีโอกาสและความเป็นไปได้มากมายซ่อนอยู่ ยังไม่สายไปที่ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะหันมาจับมือกันเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อโลกอย่างจริงจังอีกครั้ง


แหล่งที่มา :

- TATacademy.com

- Sustainable Travel Study by Expedia Group (April 2022)

- “SDG Vocab | 41 – Sustainable Tourism – การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”

จาก https://www.sdgmove.com/2021/07/31/sdg-vocab-41-sustainable-tourism/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่),
The official website of Tourism Authority of Thailand
02-250-5500 ext. 2935-8 | [email protected]