“เขาใหญ่” หุบเขาแห่งความสุข โมเดล..ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

  • ข่าวประชาสัมพันธ์ /
  • 547 /
  • 21 มิถุนายน 2565

ในบรรดาแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ต้องพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เชื่อว่า “เขาใหญ่” คือหนึ่งในนั้น...

พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ บอกว่า โควิดมาคราวนี้ ถามว่า เขาใหญ่กระทบมั้ย แน่นอน ต้องกระทบแน่ๆ แต่เราเชื่อว่าจะเปิดหรือไม่เปิดประเทศ ไม่ได้มีผลมากนักกับเขาใหญ่ เพราะเราไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่แล้ว ถ้าเขาใหญ่จะรอด เรารอดเพราะคนไทยด้วยกัน

“20 ปีที่ผ่านมาเขาใหญ่เติบโตมาโดยตลอด เป็นที่ที่คนกรุงเทพฯหรือคนจากเมืองใหญ่เลือกมามีถิ่นพำนักเป็นบ้านหลังที่สองที่สาม ด้วยเหตุผลการเดินทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลเอกชนที่มีมาตรฐาน มีอาหารดี อากาศดี เป็นถิ่นที่ปลูกผักการทำเกษตรอินทรีย์ที่ดี ไว้ใจได้ มีแหล่งพักผ่อน ร้านกาแฟ สถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบครอบครัวและคนที่นิยมการแคมปิ้ง ตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบมีระยะห่าง แต่ยังเดินทางสะดวก เพราะขับรถส่วนตัวมาเองได้ จากกรุงเทพฯใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง” พันชนะ ฉายภาพเขาใหญ่ในมุมมองของนายกสมาคมท่องเที่ยว

พันชนะบอกว่า เขาใหญ่เป็นโมเดลที่ดี ของการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เขาใหญ่ “รอด” เพราะคนไทยช่วยกัน เพราะเราเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทย เราเป็น Preferred Destination ที่อยู่ไม่ไกลกรุงเทพฯ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มลูกค้าที่นิยมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนถ้าเป็นต่างชาติ ก็มีบ้างต่างชาติที่มาส่วนใหญ่เป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มญี่ปุ่นสนใจธรรมชาติและชื่นชอบอาหาร ส่วนยุโรป (expat) หรือจากถิ่นอื่นๆ ก็สนใจธรรมชาติ ก่อนจะเกิดโควิด เขาใหญ่เป็น Destination ที่ทาง ททท.ใน CLMV โปรโมต และได้รับความสนใจจากลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ ถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะสามารถเดินทางมาโดยรถยนต์ส่วนตัวได้

“จุดเด่นของเขาใหญ่ เอาจริงๆ คือ เรามีอุทยานแห่งชาติที่เป็นมรดกโลก มีงานวิจัยเล็กๆที่ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทำขึ้น โดยให้นักท่องเที่ยวตอบแบบสอบถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า มาเขาใหญ่ทำไม 3 คำตอบแรกคือมาดูสัตว์ป่า มาเที่ยวธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ และคำตอบที่น่าสนใจคือแค่ขับรถเข้ามาเห็นเขาก็ Feel Good แล้ว” นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ บอก พร้อมกับเสริมว่า เขาใหญ่เป็นต้นแบบของ Eco Tourism อย่างแท้จริง

ในภาพรวมของเศรษฐกิจ พันชนะ ฉายภาพให้เห็นว่า ส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนที่เขาใหญ่เป็นทุนไทย คนไทย ไม่ค่อยมีต่างชาติ ต่างชาติน้อยมากไม่ถึง 10% คนที่มาลงทุนที่นี่ มองการลงทุนเป็น “คุณค่าแห่งชีวิต” เป็น lifetime investment พอมาอยู่ไปเรื่อยๆ ก็ตกหลุมรักเขาใหญ่ไป ไม่ได้คิดถอนทุน ช่วงโควิดก็อาจจะสะดุดบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วที่ผ่านมาไม่ได้คิดถึงกำไร แต่เพราะการทำธุรกิจที่เขาใหญ่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ส่วนใหญ่เอาเงินจากส่วนธุรกิจหลักมาหล่อเลี้ยงสิ่งที่ตนรัก ทำการเกษตร ทำสวน ทำโรงแรมที่พัก รีสอร์ต ร้านอาหาร

นายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ บอกว่า ตั้งใจจะทำให้เขาใหญ่เป็นหุบเขาแห่งความสุข หรือ Happy Valley เป็นความสุขที่สมดุลกับธรรมชาติที่ยั่งยืน แผนการพัฒนา “เขาใหญ่ยั่งยืน” คือ เราจะเน้นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนตระหนักทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ชุมชนคนมาเยือน เข้าใจถึงความสำคัญของ “ป่าไม้ สัตว์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่” ความเป็น “มรดกโลก” ว่ามีความสำคัญเพียงใด การพัฒนาใดๆ ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดช่องว่างของการใช้ทรัพยากร การรักษาแหล่งต้นน้ำ โดยเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชน กลุ่มอนุรักษ์ต่างๆ

“เราจะทำให้ที่นี่เป็นต้นแบบ อย่างเช่น การจัดงาน event ใดๆ ต้องสะท้อนแนวคิด Green การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต้องใช้พัสดุภัณฑ์ ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าใจว่าแนวทางการพัฒนา ทำธุรกิจที่ไม่เพิ่มภาระต่อสิ่งแวดล้อม ตามหลัก Polluter Pay Principle ใครทำเสียคนนั้นจ่าย ให้คนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันรณรงค์การลดขยะ ลดมลพิษ zero waste การจับมือร่วมกับองค์กรให้เป็นพื้นที่ที่จะใช้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อมตามแนวคิด ESG (Environment Social Governance) อย่างตอนนี้ก็ทำโครงการ “ปิ่นโตโกราวด์” ให้ผู้ประกอบการรณรงค์การใช้ปิ่นโตใส่อาหาร รวมถึงให้นักท่องเที่ยวยืมเพื่อใช้ในระหว่างที่อยู่เขาใหญ่รวมถึงอุทยานฯ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) มีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 30 ร้านแล้ว”

พันชนะยังบอกด้วยว่า เธอมีแนวคิดที่จะนำรถไฟฟ้า EV มาใช้บริการนักท่องเที่ยว ทำรถไฟฟ้าให้เช่า นำมาบริการนักท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าจะพูดกันจริงๆ เขาใหญ่ยังมีจุดอ่อนคือการเดินทาง ถ้าไม่มีรถมาจะลำบากมาก มีแนวคิดฟื้นฟูการเดินทางโดยรถไฟ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ up skill ทำ Business Transformation เพื่อสร้างแนวคิดในการทำธุรกิจใหม่ๆให้กับเขาใหญ่ ให้เป็นเมืองที่ expat หรือคนมาพักผ่อน ทำงานที่ไหนก็ได้ และจับคู่บ้านพี่เมืองน้องกับทาง EEC เพื่อให้คนมาพักผ่อน ด้วยจุดขาย มีอากาศบริสุทธิ์ wellness & spa นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่ปลูกได้ในชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่ม ร้านอาหารต่างๆ ใช้ผลิตภัณฑ์ พืชผักที่ปลูกในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดพลัง ความเชื่อมโยง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันของผู้ประกอบการ ฯลฯ

“เขาใหญ่เราต้องรอดไปด้วยกัน” นี่คือความฝันและโมเดลขับเคลื่อนที่กำลังจะเป็นจริงในการสร้างการท่องเที่ยวแนวใหม่อย่างยั่งยืนในยุคนิว นอร์มอล.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/travel/2124796

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่),
The official website of Tourism Authority of Thailand
02-250-5500 ext. 2935-8 | [email protected]
2021 Research Unit for Energy Economic and Ecological Management,
Multidisciplinary Research Institute : MDRI, Chiang Mai University.