Carbon Neutrality vs Net-Zero Emission

  • ข่าวประชาสัมพันธ์ /
  • 882 /
  • 25 สิงหาคม 2565

2 คำนี้ น่าจะเป็น 2 คำที่ได้ยินกันบ่อยในแวดวงสิ่งแวดล้อมช่วงนี้ และแน่นอนว่าคงทำให้เราสับสนงงงวยกัน วันนี้เราเลยอยากจะขอเป็นอีกเพจที่อาสามาขยายความ และอธิบายความหมายและความแตกต่างของทั้งสองคีย์เวิร์ดสิ่งแวดล้อมสำคัญนี้ให้ทุกคนเข้าใจ



#CarbonNeutrality ลด ดูด ชด
Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน คือการพยายามทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นกลาง สมดุลกันระหว่างตอนปล่อยและดูดกลับด้วยการ “ลด-ดูด-ชด”
.
ลด - คือการ “ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากต้นทาง” ให้ได้มากที่สุด ด้วยการลด การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนแทนมากขึ้น พฤติกรรมง่าย ๆ ที่ทำได้เลยคือ การประหยัดพลังงาน ปิดน้ำ ปิดไฟที่ไม่ใช้ ใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ไปทางเดียวกันก็นั่งรถไปด้วยกัน หรือ หันมารีไซเคิล อัพไซเคิลในการผลิตสินค้าต่าง ๆ ลดการใช้ทรัพยากรและช่วยลดขยะ  ลดซื้อเสื้อผ้าใหม่ เป็นต้น
.
ดูด - คือการ “ดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” เมื่อเราลดปล่อยแล้ว แน่นอนว่าก็ยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลงเหลืออยู่บ้าง มันยากมากที่จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยจากกิจกรรมไหนก็ตาม ดังนั้น เราเลยต้องดูดก๊าซคาร์บอนกลับมา ปล่อยเท่าไหร่ก็ต้องดูดกลับเท่านั้น ด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งจากการอนุรักษ์ป่าไม้ที่มีอยู่ ลดการตัดไม้ เน้นการปลูกต้นไม้ที่ยั่งยืน
.
ชด  - คือการ “ชดเชยคาร์บอนเครดิต” เป็นวิธีที่อนุญาตให้ทำกันในหมู่องค์ธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ เพราะในบางครั้ง หน่วยงานก็ไม่สามารถดูดคาร์บอนกลับมาหมดได้ พวกเขาเลยต้องชดเชยคาร์บอนเครดิตด้วยการซื้อคาร์บอนมาชดเชย ตัวอย่างเช่น เราปล่อยก๊าซเรือนกระจก 100 ตัน เราอาจจะดูดซับกลับมาเองได้แค่ 20 ตัน อีก 80 ตัน เราต้องให้บริษัทอื่น ประเทศอื่นช่วยรับหน้าที่เครดิตกลับเพิ่มมาให้แทนเรา
.
#ประเทศไทยตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีค.ศ. 2050
.
หมายเหตุ: ในบางประเทศ บางหน่วยงาน Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนจะครอบคลุมความพยายามลดและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทุกตัว แต่ในไทยเรายังหมายถึงแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น
.
#NetZeroEmission ลดให้สุด ดูดยิ่งกว่า
Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือการลด-ดูดเหมือนกัน แต่จะไม่ได้แค่ลดและดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น มันจะลดการปล่อยทุกก๊าซเรือนกระจกแต่ต้น และดูดทุกก๊าซเรือนกระจกกลับเท่าที่ปล่อยเหมือนกัน แต่จะจริงจัง เข้มข้นมากกว่ามาก ๆ เพราะ Net Zero จะไม่ส่งเสริมให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ต้องลดเองดูดและกักเก็บเอง เราเลยจะขอเรียกวิธีการของ Net Zero Emission ว่า “ลดให้สุด ดูดยิ่งกว่า”
.
ลดให้สุด - คือการ “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ทั้ง 7 ชนิดที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N20) ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFC) ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) และก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการลดให้สุดนี่หมายความว่าลดให้มากที่สุดไปจนถึงไม่ปล่อยเลย เลี่ยงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะปล่อยก๊าซพวกนี้เพื่อไม่ให้ต้องมาดูดกลับทีหลัง
.
ดูดยิ่งกว่า - คือการ “ดูดกลับและกักเก็บก๊าซเรือนกระจก” แม้จะลดให้สุดแล้ว แน่นอนว่าก็ยังจะมีปล่อยก๊าซที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเลยต้องดูดกลับให้หมด ให้เยอะยิ่งกว่าแบบของ Carbon Neutrality ทั้งด้วยการฟื้นฟูธรรมชาติ และปลูกต้นไม้ทดแทนแบบอย่างยืน แต่วิธีของ Net Zero จะไม่มีการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกแล้ว เราเลยต้องจัดการกันเอง เน้นทุกวิธีทาง และใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น เทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดอกไซด์ (Carbon Capture Storage) ที่เอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เปลี่ยนมาให้เป็นของเหลว และอัด กักเก็บไว้ในพื้นดิน หรือในมหาสมุทร หรือเอาใช้ประโยชน์ต่อ เพราะพื้นที่ปลูกต้นไม้ตอนนี้อาจมีไม่พอในการดักจับก๊าซทั้งโลก
.
#ประเทศไทยตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
.
หมายเหตุ: คำว่า Net Zero เฉย ๆ ยังคลุมเครือว่าต้องลดทุกก๊าซเรือนกระจก หรือแค่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้ชัดเจน เลยจำเป็นที่จะต้องเขียนว่าเป็น Net Zero Carbon (ครอบคลุมแค่คาร์บอน) หรือ Net Zero Emission/ Net Zero GHG Emission (ครอบคลุมทั้งหมด)
.
อ่านแล้วก็รู้สึกว่าหนทางสู่ Net Zero มันดูซับซ้อนใช่ไหม มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ Net Zero ที่งาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero วันที่ 25-26 สิงหาคม 2565 นี้ ที่พารากอนฮอลล์ สยามพารากอน ในงานจะพูดถึงเทรนด์ความยั่งยืนมุ่งสู่ Net Zero ด้วย! รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/pfbid026ni6DEUR9KqJu4jWTC6SdNB33hRqqC7KGqT82dkSGVZsToP637hWNf2sV8TKc6Fnl/?d=n
.
อ้างอิง
https://www.facebook.com/tgo.or.th/posts/pfbid02Pq4JYjM61oSFMxzRACTzz7K5By1XbL6HtzMmn6MKww6wYeN2uT7xggJ25fVaVG2Yl

https://www.youtube.com/watch?v=0GVoVBYBPOY&t=1818s

https://plana.earth/academy/what-is-difference-between-carbon-neutral-net-zero-climate-positive/

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สำนักงานใหญ่),
The official website of Tourism Authority of Thailand
02-250-5500 ext. 2935-8 | [email protected]
2021 Research Unit for Energy Economic and Ecological Management,
Multidisciplinary Research Institute : MDRI, Chiang Mai University.