อุตสาหกรรมท่องเที่ยว สร้างใหม่ให้แข็งแรง สรุปสาระสำคัญ WEF Travel & Tourism Development Index 2021
- ข่าวประชาสัมพันธ์ /
- 1,992 /
- 19 กันยายน 2565
งานวิชาการและห้องสมุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
เมื่อสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ตีพิมพ์รายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index – TTCI) ในปี 2019 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกำลังอยู่ในยุคเฟื่องฟู ในปี 2018 มีนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ 1.4 พันล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์และเติบโตเร็วกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้
เพียง 2 ปีต่อมา โฉมหน้าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถูกพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ การท่องเที่ยวโลกได้ประสบกับวิกฤตร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยพบเจอ นั่นก็คือวิกฤต COVID-19 การเดินทางที่หยุดชะงักลงส่งผลให้งานในภาคอุตสาหกรรมการท่องที่ยวหายไปราว 62 ล้านตำแหน่ง (ที่มา: WTTC Travel & Tourism Economic Impact 2021) ธุรกิจท่องเที่ยวนับไม่ถ้วนต้องพักกิจการและจำนวนไม่น้อยต้องปิดตัวไปอย่างถาวร
สำหรับผู้ที่สามารถฝ่าวิกฤตมาได้ เหตุการณ์ COVID-19 ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจไปอย่างสิ้นเชิง โดยสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านสุขอนามัย รวมทั้งความปลอดภัยต่าง ๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ผลสำรวจหลายชิ้นชี้ว่านักท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ยังมีแนวโน้มที่จะใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนมากขึ้นอีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา WEF ได้จัดทำดัชนี TTCI เพื่อเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดเกณฑ์มาตรฐานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางท่องเที่ยวของแต่ละประเทศ ในปี 2020 และ 2021 WEF ได้ดำเนินการปรับปรุงดัชนี TTCI ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว อาทิ ความแออัด การกระจายผลประโยชน์อย่างไม่เท่าเทียม ผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ผลที่ได้จากการหารือคือตัวชี้วัดที่ถูกปรับปรุงให้สะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่นแข็งแรง (Resilience) ซึ่งหมายถึงความสามารถในการฟื้นฟูจากวิกฤต โดยมีชื่อใหม่ว่า “ดัชนีการพัฒนาด้านการเดินทางท่องเที่ยว” (Travel & Tourism Development Index – TTDI)
TTDI ประกอบด้วย 17 ตัวชี้วัด (Pillars) ภายใต้ 5 หมวด ซึ่งเป็นเกณฑ์วัดปัจจัยและนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อพัฒนาการของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเดินทางที่ทั้งยั่งยืนและยืดหยุ่น สามารถรับมือต่อวิกฤตต่างๆ ในอนาคตได้ ประกอบด้วย
สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเดินทาง
- สภาพแวดล้อมทางธุกิจ
- ความมั่นคงและความปลอดภัย
- สุขภาพและสุขอนามัย
- ทรัพยากรมนุษย์และตลาดแรงงาน
- ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT)
นโยบายและเงื่อนไขที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวเดินทาง
- ความสำคัญของการท่องเที่ยวเดินทาง
- นโยบายการเปิดประเทศ
- ความสามารถในการแข่งขันด้านราคา
โครงสร้างพื้นฐาน
- โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางอากาศ
- โครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งทางน้ำและทางบก
- โครงสร้างพื้นฐานด้านบริการท่องเที่ยว
ปัจจัยผลักดันอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยว
- ทรัพยากรธรรมชาติ
- ทรัพยากรวัฒนธรรม (ปรับจากเดิมที่มี ‘การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ’ รวมอยู่ด้วย)
- ทรัพยากรที่ไม่ใช่เพื่อการพักผ่อน (ตัวชี้วัดใหม่)
ความยั่งยืนทางการท่องเที่ยวเดินทาง
- ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (ย้ายมาจากหมวดนโยบายและเงื่อนไข)
- ความยืดหยุ่นของสภาพเศรษฐกิจสังคม (ตัวชี้วัดใหม่)
- ผลกระทบจากอุปสงค์ด้านการเดินทางท่องเที่ยว (ตัวชี้วัดใหม่)
สาระสำคัญของ Travel & Tourism Development Index (TTDI) ฉบับปี 2021 คือ “Rebuilding for a Sustainable and Resilient Future” หรือการสร้างอนาคตใหม่ที่ยั่งยืนและแข็งแรง ทนทานต่อวิกฤต การระบาด COVID-19 เป็นความท้าทายที่รุนแรงที่สุดที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวต้องเผชิญ ในขณะที่การท่องเที่ยวกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว สิ่งสำคัญที่ภาคส่วนนี้ต้องทำคือตระหนักถึงบทเรียนจากวิกฤตที่ผ่านมา รวมทั้งความผันผวนของสถานการณ์ตลาดในปัจจุบัน เพื่อสร้างแผนฟื้นฟูที่ผนวกการมีส่วนร่วม (Inclusivity) ความยั่งยืน (Sustainability) และความยืดหยุ่นอันจะส่งผลต่อสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) เข้าไปด้วย เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์และความท้าทายต่างๆ ที่จะมาถึง รวมทั้งเพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต
Key Results
ผลลัพธ์คะแนนตัวชี้วัด TTDI ในปี 2021 ที่ค่อนข้างนิ่งตอกย้ำถึงสถานการณ์อันยากลำบากที่ภาคการท่องเที่ยวกำลังเผชิญ โดยเฉลี่ยแล้วคะแนน TTDI เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ระหว่างปี 2019 ถึง 2021 โดยมีเพียง 39 จาก 117 ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.0% ส่วนอีก 51 ประเทศนั้น มีคะแนนเพิ่มขึ้นหรือลดลงภายในช่วง 1.0% และอีก 27 ประเทศมีค่าคะแนนลดลงมากกว่า 1.0%
นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 2) แล้ว ประเทศที่มีคะแนนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเดินทางสูงสุด 10 อันดับแรกคือประเทศรายได้สูงในแถบภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิก อันดับที่ 1 คือ ญี่ปุ่น ตามด้วย สหรัฐอเมริกา ดังที่กล่าวไปแล้ว ตามมาด้วย สเปน (อันดับที่ 3) ฝรั่งเศส (อันดับที่ 4) เยอรมนี (อันดับ 5) สวิตเซอร์แลนด์ (อันดับที่ 6) ออสเตรเลีย (อันดับที่ 7) สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 8) สิงคโปร์ (อันดับที่ 9) และอิตาลี ซึ่งขึ้นมาเป็นอันดับที่ 10 จากเดิมอันดับที่ 12 ในขณะที่ประเทศแคนาดาหลุดออกจาก Top 10 กลายเป็นลำดับที่ 13 (จากเดิมลำดับที่ 10) สำหรับประเทศไทย ในปี 2021 ไทยอยู่ในอันดับที่ 36 ลดลงจากเดิม 1 อันดับ โดยเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียน รองลงมาจากสิงคโปร์และอินโดนีเซีย
ด้านการเปลี่ยนแปลงลำดับและพัฒนาการของคะแนนในแต่ละประเทศ เวียดนามเป็นประเทศที่มีคะแนนเพิ่มสูงสุดจากปี 2019 โดยเพิ่มขึ้น 4.7% เลื่อนขึ้นมา 8 ลำดับ เป็นอันดับ 52 จากเดิมอันดับที่ 60 ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีลำดับเพิ่มขึ้นสูงสุด เพิ่มขึ้นมา 12 อันดับ เป็นอันดับที่ 32 จากเดิมอันดับที่ 44 และซาอุดีอาระเบียที่เลื่อนขึ้นมา 10 อันดับ เป็นอันดับที่ 33 จากเดิมที่ 43
ประเทศไทยมีคะแนนโดยรวม 4.3 (คะแนนเต็ม 7) โดยคะแนนด้านความมั่นคงและความปลอดภัย (Safety and Security) ของไทยอยู่ที่ 4.3 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนที่อยู่ในระดับ 5.4 สำหรับคะแนนด้านนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการท่องเที่ยวเดินทาง (Enabling Policy and Condition) ไทยได้คะแนนเพียง 3.7 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 4.4 หมวดที่ประเทศไทยมีคะแนนสูงขึ้นจากเดิมคือหมวดโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และหมวดความยั่งยืนทางการเดินทางท่องเที่ยว (Travel and Tourism Sustainability) แต่ทั้งนี้คะแนนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียนที่ 3.6 คะแนน
ข้อค้นพบสำคัญจากรายงาน TTDI 2021
- การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินทางมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือเศรษฐกิจกำลังพัฒนา รวมทั้งเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดของ COVID-19 การสนับสนุนการพัฒนาและฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเดินทางที่มีความยั่งยืน ยืดหยุ่น และช่วยสนับสนุนธุรกิจและแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกโดยรวม
- การเปลี่ยนแปลงของพลวัตด้านอุปสงค์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในระยะอันใกล้ อุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ เช่น ขีดความสามารถในการรองรับ (Capacity) ที่ลดลง ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ การขาดแคลนด้านแรงงาน จะส่งผลให้การฟื้นฟูของอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างล่าช้า อย่างไรก็ตาม จะมีโอกาสทางการตลาดที่ขึ้นใหม่จากการเปลี่ยนแปลงของพลวัตด้านอุปสงค์ อาทิ การท่องเที่ยวภายในประเทศ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ กลุ่มดิจิทัลโนแมดและการท่องเที่ยวแบบผสมผสานระหว่างพักผ่อนกับธุรกิจ (Bleisure) ซึ่งการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการท่องเที่ยวแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นของภาคอุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างดี
- กลยุทธ์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวใหม่ได้อย่างแข็งแรงมากกว่าเดิม ท่ามกลางความท้าทายในปัจจุบัน โอกาสและความเสี่ยงในอนาคต การฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงประเด็นความยั่งยืนและเข้มแข็ง (Build back better) มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งต้องมีการพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบและมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยประโยชน์จากแรงขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ การเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวให้กลับคืนผ่านมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัย การสร้างมาตรการฟื้นฟูอย่างมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจแรงงาน รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการอุปสงค์ทางการท่องเที่ยว และการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มากขึ้น