ทำความรู้จักกับดัชนีความพร้อมสู่อนาคตสีเขียว
- ข่าวประชาสัมพันธ์ /
- 438 /
- 9 พฤษภาคม 2565
ตั้งแต่ข้อตกลงปารีสบังคับใช้ในปี 2559 กว่า 120 ประเทศ ได้ให้คำมั่นสัญญาจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ แต่ความคืบหน้าของแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์ (MIT) ของสหรัฐฯ จึงได้จัดทำ “ดัชนีอนาคตสีเขียว” (the Green Future Index) ตั้งแต่ปี 2564 เปรียบเทียบความก้าวหน้าและความมุ่งมั่นในการก้าวเข้าไปสู่อนาคตสีเขียว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำดัชนีนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านค่ะ
ดัชนีอนาคตสีเขียว เป็นดัชนีที่วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก รวมทั้งสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสีเขียว และเทคโนโลยีที่ช่วยลดคาร์บอนฯ โดยวัดประเทศกว่า 76 แห่ง จากปัจจัย 5 ด้าน ด้านแรก การปล่อยคาร์บอนฯ โดยดูจากการปล่อยคาร์บอนฯ ทั้งหมดและพัฒนาการของการปล่อยคาร์บอนฯ ในภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ด้านที่สอง การปรับเปลี่ยนด้านพลังงาน ทั้งการมีส่วนร่วมและการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งงานวิจัยพบว่า การใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ในภาคอุตสาหกรรม ก่อสร้างและขนส่งมีส่วนทำให้เกิดมลพิษทั่วโลกมากกว่า 70% การปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนฯได้ ด้านที่สาม สังคมสีเขียว เป็นตัวชี้วัดที่ครอบคลุมหลายด้าน อาทิ พื้นที่ป่าไม้สุทธิ การรีไซเคิล การพัฒนาอาคารสีเขียว การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ด้านที่สี่ นวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยวัดจากจำนวนสิทธิบัตรสีเขียว การลงทุนในพลังงานสะอาด และการลงทุนด้านเทคโนโลยีอาหาร ด้านสุดท้าย นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ ดูจากความมุ่งมั่นของนโยบายด้านสภาพอากาศ อาทิ การสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ การเกษตรแบบยั่งยืน และการใช้มาตรการต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การจัดอันดับครั้งล่าสุดในปีนี้ ยุโรปยังคงเป็นผู้นำในด้านความพร้อมสู่อนาคตสีเขียว เห็นได้จากใน 20 อันดับแรกประกอบด้วยประเทศในยุโรปถึง 16 ประเทศ ไอซ์แลนด์อยู่ในอันดับหนึ่งในการจัดอันดับดัชนีอนาคตสีเขียว โดยตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯสุทธิให้เป็นศูนย์ให้ภายในปี 2583 และเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่าที่ใช้ไป อันดับสองคือ เดนมาร์ก ซึ่งรัฐบาลมีมติหยุดการออกใบอนุญาตสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใหม่ เพื่อเลิกกิจการที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลภายในปี 2593
สำหรับประเทศนอกยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ติดอยู่ใน 20 อันดับแรกจากการมีทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มีสิทธิบัตรสีเขียวจำนวนมาก และมีความก้าวหน้าในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ในอันดับกลางๆ หลายประเทศมีความคืบหน้าด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น จีน ที่กว่า 50% ของการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกในปี 2564 มาจากจีน ภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์อยู่อันดับสูงสุดที่อันดับ 29 และอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวในอนาคต สำหรับไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม (อันดับ 48 53 และ 56) อยู่ในกลุ่มที่การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า มาเลเซีย และอินโดนีเซีย (อันดับ 65 และ 70) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีนโยบายสภาพภูมิอากาศที่ล้าหลังหรือไม่มีนโยบายสภาพอากาศ เพราะมีแผนฟื้นฟูจากโควิด-19 ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมแบบเดิม
แม้หลายประเทศจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่อนาคตสีเขียว แต่ยังมีความท้าทายอยู่มาก โดยรายงานฉบับนี้เตือนว่า ความไม่แน่นอนจากโควิด-19 ที่ยังมีต่อเนื่อง ยังคงทำให้หลายประเทศหันกลับไปสู่พฤติกรรมการใช้คาร์บอนฯ แบบเดิมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนคาดว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความพยายามเพื่อความยั่งยืนของประเทศต่างๆทั่วโลกเช่นกันค่ะ